พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ คุณสมบัติ‘กสทช.’ชุดใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย

  • 4 ปีที่แล้ว
พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ คุณสมบัติ‘กสทช.’ชุดใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย
หมายเหตุ - หนังสือพิมพ์มติชน กำหนดจัดสัมมนา "7 เสือที่อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย" วันที่ 25 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด เวลา 09.00-12.00 น. ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข มีนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมสัมมนาดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงมุมมองที่มีต่อ กสทช.ชุดใหม่
หน้าที่ของ กสทช.มีความหลากหลายมาก แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานหลัก ด้านระบบสาระสนเทศและการสื่อสาร สิ่งที่เป็นปัจจัยมีนัยยะสำคัญต่อตลาด คือ โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตบ้าน โทรทัศน์ และดาวเทียม เป็น 4 หัวใจหลัก เป็นสาระสำคัญการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจากโลกเก่าเข้าสู่โลกใหม่ การมีโครงสร้างพื้นฐานต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพราะภาครัฐไม่มีเงินมากพอจะทำ และไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอด้วย ทำให้ที่ผ่านมาเน้นสร้างความมั่นคง พัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้กับผู้บริโภคเข้าไม่ถึง
ส่วนเอกชนก็ต้องให้ปัจจัยตลาดหรือโครงสร้างตลาดเป็นตัวกำหนด เพื่อสร้างสภาพของการแข่งขันเหมาะสม เพื่อให้เกิดพัฒนาการนวัตกรรมใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ ที่มีราคาสมเหตุสมผลให้กับประชาชน ในแง่แนวทาง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนของโทรศัพท์มือถือ พูดถึงเรื่อง 5จี ผู้ให้บริการในตลาดมีอยู่ 3 ราย กสทช.ควรให้น้ำหนักสร้างตลาดที่มีการแข่งขันแบบสมบูรณ์ หากมีเจ้าใดเจ้าหนึ่งมีทรัพยากรต่ำกว่าอีก 2 เจ้า กสทช.ก็ควรรีบสรรหาทรัพยากรให้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ไม่อยากเห็นตลาดที่มีผู้เล่นอยู่ 3 ราย มีความเหมาะสมแล้ว ต้องลดลงเหลือ 2 ราย จะเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า กสทช.จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะกำกับดูแลโครงสร้างตลาดให้อยู่รอดได้อย่างไร
และ 2.ส่วนของดาวเทียม เป็นธุรกิจที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างชาติมีดาวเทียมวงโคจรต่ำ กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย กสทช.ต้องเข้ามากำกับดูแลให้ดี เพราะเป็นตลาดใหม่ มีทั้งผู้เล่นรายเก่า และผู้เล่นรายใหม่อยากจะทำ การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา หากเป็นเทคโนโลยีดีกว่าเทคโนโลยีเก่า อาทิ หากรัฐบาลจะใช้นโยบายเน็ตประชารัฐ หรือเน็ตชายขอบ ในอดีตจะต้องลากสายไฟเบอร์ไป มีต้นทุนในการลงทุน ดูแล หรือการบำรุงรักษาไม่คุ้มค่า และไม่สามารถทำได้ดีด้วย แสดงถึงความด้อยประสิทธิภาพของรัฐ แต่ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องปกติ ทำให้ควรใช้ระบบของเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อใช้เป็นสัญญาณออกไป ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) หรือการทำในรูปแบบใดก็ตามให้เอกชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม เพราะเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ จะเข้ามาช่วยนโยบายนี้ได้มาก ทั้งในแง่เงินลงทุนช่วงแรก ต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงคุณภาพของการบริการมากกว่าสายไฟเบอร์
สุดท้ายเป็นเรื่องการใช้เงินของ กสทช.จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่อปีที่ได้ค่อนข้างมาก ต้องการเห็นการใช้เงินส่วนนี้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ด้วยข้อกฎหมายที่มีความเข้มข้นมาก ทำให้ผู้จะใช้เงินส่วนนี้กังวลว่าหากใช้ไม่ดีจะมีความผิด อยากให้หารือกันให้เรียบร้อย เพื่อให้เงินในส่วนนี้พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอย่างแท้จริง

แนะนำ