กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง 70 ปี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

  • 5 ปีที่แล้ว
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง 70 ปี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : อิทธิพลของรัฐธรรมนูญเยอรมันต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไทย

เวลา 14.15 น. วันที่ 19 ก.ย.2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากนั้น เสด็จไปยังห้อง 111 ทรงเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง "70 ปี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : อิทธิพลของรัฐธรรมนูญเยอรมันต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไทย" ซึ่งศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เพื่อเพิ่มมุมมองการศึกษาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบในลักษณะของสหวิทยาการ ในประเด็นอิทธิพลของกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมันต่อรัฐธรรมนูญไทย จากผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาวเยอรมัน ทั้งจากการแสดงปาฐกถาและการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาและความเป็นไปของการร่างรัฐธรรมนูญไทย ที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของรัฐธรรมนูญเยอรมันต่อกฎหมายไทย ในบริบทของประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ยุโรป ตลอดจนผลสืบเนื่องต่อรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย และผลลัพธ์ต่อประเทศไทยในปัจจุบัน

การปกครองของแต่ละประเทศในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายหลักหรือรัฐธรรมนูญ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้ระบบการปกครองของประเทศราบรื่น ประชาชนมีชีวิตที่ดีและเป็นสุข โดยสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศไทย ได้ผ่านการลองผิดลองถูกในการออกแบบกฎหมายหลัก หรือรัฐธรรมนูญของประเทศมาแล้ว แม้ในบริบทของประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างกัน

การก่อตั้งประเทศเยอรมนี 2 ประเทศ ที่ต่างกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือเยอรมนีตะวันตก ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2492 และสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี หรือเยอรมนีตะวันออก ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เป็นจุดกำเนิดของกฎหมายหลักของประเทศเยอรมนีตะวันตกตามหลักการประชาธิปไตย เหตุการณ์ทะลายกำแพงเบอร์ลินที่นำไปสู่การรวมชาติเยอรมนีได้สำเร็จในปี 2533 ทำให้กฎหมายหลักของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกลายเป็นจุดรวมศูนย์ และเป็นรัฐธรรมนูญของเยอรมนีทั้ง 2 ประเทศ

ประเด็นเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญหลักของเยอรมนี เป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา เนื่องจากเป็นที่รู้กันในวงกว้าง มิใช่เฉพาะในหมู่นักกฎหมายที่ไปศึกษาในเยอรมนีว่า รัฐธรรมนูญไทยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายหลัก หรือรัฐธรรมนูญเยอรมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2540 มีอิทธิพลต่อเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญไทยฉบับหลังจากนั้น

#กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร #ทรงพระเจริญ #AssavarakChannel

แนะนำ