โรงอาบน้ำสาธารณะคืออะไร...และอย่างไร?
  • 11 ปีที่แล้ว
คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556

โรงอาบน้ำสาธารณะ ทั้งออนเซ็น และเซ็นโต ได้เปิดบริการในใจกลางกรุงเทพมหานครที่ซอยท่องหล่อแล้ว โดยมรรยาทของการใช้โรงอาบน้ำสาธารณะ ที่เรียกว่า ออนเซ็น ที่เป็นน้ำแร่ ผู้ใช้บริการต้องห้ามสวมเสื้อผ้า ทุกคนต้องเปลือยกายอาบน้ำ แต่จะมีห้องแยกชาย หญิง
โรงอาบน้ำสาธารณะ ที่ประเทศญี่ปุ่น จุดเริ่มแรกอยู่ที่วัด และเป็นยุคแรกของการซาวน่าเปียก ซึ่งอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ คะมะกุระ ที่เปิดบริการฟรี ต่อมาได้มีการขยายและเก็บค่าบริการ ซึ่งในยุคแรกนั้น เป็นลักษณะซาวน่า ผสมผสานกับไอน้ำ หรือน้ำร้อน ยังไม่มีการลงแช่
การใช้บริการถ้าเป็นซามูไร กับ ชาวบ้านทั่วไปจะมีการแยกเวลาการใช้บริการ ซึ่งในช่วงยุคเอโดะ นั้นยังมีการแบ่งชนชั้นกันอยู่ และต่อมาโรงอาบน้ำสาธารณะ กลายเป็นสถานที่พูดคุยกันได้ แต่ทุกคนต้องเปลือยกาย อันเป็นการแสดงถึงสถานะที่เท่าเทียมกัน แต่เมื่อออกมาจากโรงอาบน้ำแล้วจะพูดคุยกันไม่ได้
ในยุคแรกโรงอาบน้ำสาธารณะจะไม่มีการแยกชาย หญิง แต่ต่อมาเกิดมีปัญหา จึงต้องแยกชาย หญิงออกจากกันชัดเจน ในยุคเมจิ ตรงกับรัชกาลที่ 5 ประเทศไทย
การที่คนญี่ปุ่นไม่มีที่อาบน้ำภายในบ้าน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากต้องต้มน้ำอาบภายในบ้าน เนื่องจากบ้านจะอยู่ติดกัน หากเกิดไฟไหม้จะเป็นเรื่องใหญ่มาก
สำหรับการใช้พื้นที่โรงอาบน้ำสาธารณะโดยเฉพาะในชนบท หรือภายในหมู่บ้าน อันเป็นการใช้พื้นที่เฉพาะคนในครอบครัว ญาติ คนในชุมชนเท่านั้น หากมีแขกแปลกหน้าเข้ามาร่วมอาบด้วยชาวบ้านก็จะไม่ชอบใจ เช่น คำผกา กับคุณนิ่ม กรกฎ พัลลภรักษา ได้เข้าไปอาบน้ำที่วัดแห่งหนึ่งและมีชาวบ้านที่ร่วมอาบน้ำด้วยกันแสดงท่าทีไม่พอใจ ที่มีคนแปลกถิ่นมาร่วมอาบน้ำด้วย
กติกามรรยาทของคนที่ใช้บริการออนเซ็น เซ็นโต คือต้องเก็บผมให้เรียบร้อย ต้องอาบน้ำมาก่อนลงแช่ ไม่ส่งเสียงดัง ห้ามยึดพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเองคนเดียว หรือเวลาอาบน้ำห้ามทำน้ำกระเซ็นไปถูกคนอื่น และเส้นผมที่ร่วงหล่น ต้องเก็บไปทิ้งถังขยะด้วย