ประวัติ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร

  • 4 ปีที่แล้ว
ประวัติ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร

นามเดิมคือ เงิน เมื่อท่านอายุได้ 3 ขวบ ผู้เป็นลุงได้พามาอยู่ที่กรุงเทพ ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดชนะสงคราม ต่อมา เมื่อท่านอายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชนะสงคราม ศึกษาพระธรรมวินัย คำภีร์มูลกัจจายน์ เวทมนตร์คาถา และ วิทยาการต่างๆ จนแตกฉาน จากนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี ณ วัดชนะสงคราม มีฉายาว่า "พุทธโชติ" บวชได้ 3 พรรษา ก็ย้ายมาจำพรรษาที่ วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) ต่อมาย้ายเข้าไปอยู่ที่ในหมู่บ้านวังตะโก อยู่ห่างจากวัดคงคารามคนละฝั่งเท่านั้น ตอนที่ย้ายจากวัดคงคาราม หลวงพ่อได้นำกิ่งโพธิ์ติดต้วมาด้วย 1 กิ่งแล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกเสี่ยงทาย ถ้าหากต้นโพธิ์ตายก็คงจะอยู่ไม่ได้ ถ้าหากที่นี่จะเป็นวัดได้ขอให้ต้นโพธิ์เจริญงอกงาม ปรากฏว่า ต้นโพธิ์เจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต หลวงพ่อเงินก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ที่นี่ด้วย และท่านเป็นเพื่อนกับหลวงปู่ศุข ซึ่งหลวงปู่ศุขก็ได้ฝากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มาเป็นลูกศิษย์ด้วย หลวงพ่อเงินถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2464 สิริอายุได้ 111 ปี

พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และโชคลาภ ในวงการพระเครื่องจะรู้ว่าถ้าสภาพสวย ไม่ว่าพิมพ์ไหน ราคาอยู่ในหลักล้านทั้งหมด ปัจจุบันพระเครื่องที่เป็นของแท้หายากมาก

วัตถุมงคลที่จัดทำขึ้นได้แก่ รูปหล่อพิมพ์นิยมหรือเบ้าทุบ แบ่งออกเป็นแม่พิมพ์ต่างๆ ได้ดังนี้คือ พิมพ์ชายติด พิมพ์ชายห่าง พระรูปเหมือนพิมพ์ขี้ตา แยกแม่พิมพ์เป็นพิมพ์สามชาย พิมพ์สี่ชาย พิมพ์ห้าชาย และเหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก ซึ่งก็แยกออกเป็นพิมพ์แข็งตรง พิมพ์แข็งติด พิมพ์เท้ากระดก และพิมพ์ตาขีด ซึ่งนับว่าเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากของ หลวงพ่อเงิน

การสร้างพระเครื่องจะใช้วิธีหล่อโบราณ คือ การหล่อหุ่นเทียนจากแม่พิมพ์ แล้วใช้ดินขี้วัวพอกหุ่นเทียน เมื่อดินแห้งสนิท ก็นำหุ่นเทียนนั้นไปเผาไล่เทียนออกจากแม่พิมพ์ หลังจากนั้นจึงเททองเหลืองที่หลอมแล้วลงในเบ้า พอองค์พระเย็นก็แกะเบ้าดินขี้วัวออก ดังนั้น ขนาดของพระเครื่องทุกองค์จึงใกล้เคียงกัน และในขณะที่ถูกความร้อน คราบดินขี้วัวก็ได้ฝังตัวแน่นอยู่ตามซอกแขน และเนื้อของพระเครื่อง ดูกลมกลืนกันจนแทบจะแยกไม่ออก จึงกลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ที่ยากจะเลียนแบบ

ส่วนมวลสารของพระเครื่องซึ่งเป็นทองเหลืองนั้น ได้มีการผสมทองเหลืองเข้าไปหลายชนิด และไม่ทราบสัดส่วนที่ชัดเจน แถมวิธีในการหล่อก็ใช้วิธีแบบโบราณ คือใช้ไฟสุม จึงทำให้เนื้อโลหะไม่สามารถที่จะผสานกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อกาลเวลาเนิ่นนานผ่านไปจึงปรากฏเป็นรอยด่างของสนิมที่ไม่สม่ำเสมอกันทั่วทั้งองค์ของพระเครื่อง บางจุดก็เป็นสีเหลืองสดใส บางจุดก็เป็นสีน้ำตาล และบางจุดก็เกิดเป็นสนิมตีนกาสีดำ

แนะนำ